닫기
  • 닉네임 :
  • 닫기
  • 닉네임
  • 가입
  • 점수
  • 자기소개
닫기
아래의 신고 이유를 선택하고 신고 버튼을 클릭 해 주세요.

ตั้งกระทู้

#ท่องเที่ยว

#ทำอาหาร

#ร้านอร่อย

#เคล็ดลับ

#แชร์ประสบการณ์

#ความรัก

#ความงาม

#เรื่องที่บอกใครไม่ได้

#เรื่องเรียน

คุยกับสาวไทยเจ้าของฟาร์มดอกไม้ในออสเตรเลีย

28 Sep 2023
คุณจูน จุฬาลักษณ์ เวียร์ (Julaluck Wier) ที่ฟาร์มดอกไม้ของเธอกับดอกเบญจมาศสีสันสดใสในช่วงปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วง Source: Supplied / Belinda Jordaan จุฬาลักษณ์ เวียร์ (Julaluck Wier) หรือจูน สาวเชียงใหม่ที่แต่ก่อนไม่เคยทำสวน ปลูกอะไรก็ตาย พอมาอยู่ออสเตรเลียเธอหลงใหลในการปลูกดอกไม้ พยายามหาความรู้ ลองผิดลองถูก จนในที่สุดเธอสามารถเปิดฟาร์มดอกไม้เพื่อขายส่งให้ร้านดอกไม้ต่าง ๆ ในเมืองเบ็นดิโก (Bendigo) และบริเวณใกล้เคียงได้สำเร็จ เมล็ดพันธุ์แห่งความมุ่งมั่นได้ผลิบานกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวของเธอ ฟาร์มดอกไม้ Pure Maiden Flower Farm ตั้งอยู่ห่างจากย่านใจกลางเมืองเบ็นดิโก (Bendigo) ในรัฐวิกตอเรีย เพียงแค่ราว 15 นาที คุณจูน จุฬาลักษณ์ เวียร์ (Julaluck Wier) เจ้าของฟาร์มแห่งนี้บอกกับเอสบีเอส ไทย ว่า เธอเริ่มปลูกดอกไม้และจำหน่ายให้แก่ธุรกิจและคนในท้องถิ่นแถบนั้นมาตั้งแต่ปี 2019 โดยส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ตัดสำหรับส่งขายให้ร้านดอกไม้ในพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมขายผ่านเว็บไซต์ และขายให้ลูกค้าโดยตรงที่หน้าประตูฟาร์มในช่วงเช้าวันเสาร์ ดอก ranunculus สีหวาน ที่ออกดอกมากมายในฟาร์มของคุณจูนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ Source: SBS / Parisuth Sodsai ranunculus ดอกไม้ประเภทหนึ่งที่เป็นสินค้าหลักของฟาร์มของคุณจูน Source: SBS / Parisuth Sodsai ที่ฟาร์มขณะนี้มีไม้ตัดดอกของเมืองหนาวหลากชนิด ทั้งที่อยู่ในช่วงทดลองปลูกในระยะแรก ไปจนถึงที่เป็นดอกไม้หลักที่สร้างรายได้ให้แก่ฟาร์ม “ในฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้หลัก ๆ ของเราก็คือ ranunculus หรือ buttercup ซึ่งตอนนี้มีประมาณเกือบ 8,000 ต้นที่ฟาร์มของเรา ในช่วงฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง ดอกที่ขายดีที่สุดที่ฟาร์มเราก็คือดอก Dahlia หรือดอกรักเร่ โดยความพิเศษของมันคือมีหลายสีสันและหลาย texture กลีบของมันดูซับซ้อน พอลูกค้าเห็นจะ ‘ว้าว’ ลูกค้าก็เลยจะชอบดอกดาห์เลียมาก ที่ฟาร์มก็ยังมีดอกเบญจมาศด้วย ซึ่งจะบานในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเป็นช่วงสั้น ๆ คือระหว่างเดือนเมษายนจนถึงต้น ๆ มิถุนายนค่ะ” คุณจูนอธิบายถึงดอกไม้ในฟาร์ม แม้จะกลายเป็นสาวชาวสวนที่แต่ละวันต้องดูแลเอาใจใส่ดอกไม้ที่ปลูกไว้ในฟาร์ม แต่คุณจูนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เธอไม่ได้เป็นคนที่ชอบทำสวนหรือเป็นคนมือเย็นที่ปลูกอะไรก็ขึ้น “จริง ๆ จูนเป็นคนในเมือง ตอนอยู่เชียงใหม่ ก็ไม่เคยทำสวน แต่คุณแม่ก็ปลูกดอกกุหลาบในกระถาง แต่เราก็ไม่เคยสนใจ แต่ตอนที่แต่งงานใหม่ ๆ ตอนนั้นจูนรอวีซ่า เราก็หากิจกรรมยามว่างทำ จูนก็เลยเริ่มทำสวน พอได้ทำ ก็รู้สึกสนุกและ enjoy กับมัน” ดอก ranunculus ที่สีสวยและกลีบแน่นเหมือนกุหลาบ Source: SBS / Parisuth Sodsai ดอกป๊อบปี้ที่บานสะพรั่งในฟาร์มของคุณจูนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ Source: SBS / Parisuth Sodsai “ จริง ๆ จูนเป็นคนในเมือง ตอนอยู่เชียงใหม่ ก็ไม่เคยทำสวน แต่คุณแม่ก็ปลูกดอกกุหลาบในกระถาง แต่เราก็ไม่เคยสนใจ จุฬาลักษณ์ เวียร์“  จุดที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณจูนคิดที่จะเปลี่ยนจากงานอดิเรกที่ทำยามว่าให้มาเป็นธุรกิจก็คือความหลงใหลในความสวยงามของดอกไม้ประเภทหนึ่ง ที่นำไปสู่การมองเห็นโอกาสในตลาดออสเตรเลีย “วันหนึ่งเพื่อนที่ทำงานในฟาร์มดอกไม้ที่ไทยโพสต์ภาพดอกเบญจมาศที่เขาปลูกที่นั่น ซึ่งเป็นดอกเบญจมาศที่จูนไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลย จูนอยากรู้ว่าเราจะปลูกดอกเบญจมาศที่นี่ได้ไหม ก็เลยกูเกิลหาว่าจะซื้อเมล็ดพันธุ์หรือซื้อต้นมาปลูกยังไง เลยได้เจอกลุ่มที่ชื่อว่า Chrysanthemum Bendigo เป็นเหมือนกลุ่มคนรักดอกเบญจมาศที่เบ็นดิโก ซึ่งเขาจะมีพันธุ์ที่ค่อนข้างหายาก จูนก็เลยเริ่มจากตรงนั้น ก็กลายมาเป็นความชอบว่าดอกนี้มันสวย และเราเห็นโอกาสว่าเราสามารถปลูกดอกนี้ขายให้คนทั่วไปได้ เพราะเราไม่เห็นดอกนี้ตามร้านทั่วไป” คุณจูนกล่าวว่า ในช่วงปลายฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วงจะเป็นช่วงที่ดอกเบญจมาศบานสะพรั่งไปทั้งฟาร์ม Source: Supplied / Belinda Jordaan กว่าที่จะเริ่มปลูกดอกไม้ในปริมาณมาก ๆ และได้คุณภาพอย่างที่ร้านดอกไม้ต้องการนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณจูนต้องเริ่มจากการหาความรู้ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุดและลองผิดลองถูกจากประสบการณ์จริง “พอเราบอกกับครอบครัวสามีว่า อยากปลูกดอกไม้ เขาก็หัวเราะ เพราะตอนนั้นซื้อดอกอะไรมาหรือปลูกอะไรก็ตาย แต่แม่ของแฟนเขาก็ให้เราลองปลูกในแปลงดอกไม้ของเขาก่อน จูนก็เริ่มจากดอกซินเนีย (ดอกบานชื่น) ดอกทานตะวัน ซึ่งปลูกจากเมล็ด แล้วทดลองขายตามเฟซบุ๊ก สรุปว่าก็มีคนสนใจนะคะ เราจึงเริ่มเห็นโอกาสว่า จริง ๆ แล้วมันเป็นไปได้ แต่เราน่าจะโฟกัสไปที่ดอกไม้ประเภทใดประเภทหนึ่งและเรียนรู้ให้เกิดความชำนาญหรือปลูกให้ได้มาตรฐาน หรือให้มีคุณภาพที่เราจะขายให้คนอื่นได้จริง ๆ จูนก็เลยเริ่มโฟกัสที่ดอกเบญจมาศก่อน” จูนเริ่มจากดอกซินเนีย ดอกทานตะวัน ซึ่งปลูกจากเมล็ด แล้วทดลองขายตามเฟซบุ๊ก สรุปว่าก็มีคนสนใจ เราจึงเริ่มเห็นโอกาสว่า จริง ๆ แล้วมันเป็นไปได้ จุฬาลักษณ์ เวียร์ ดอกไม้หลากชนิดที่คุณจูนจะตัดจากแปลงที่ปลูกไว้ในฟาร์มทุกเช้า Source: SBS / Parisuth Sodsai “จูนอ่านหนังสือเกี่ยวกับการปลูกดอกไม้เยอะมาก ทั้งเรียนจากในอินเทอร์เนตด้วยและเรียนจากในตำราด้วย คือจากหนังสืออะไรที่เกี่ยวกับการปลูกดอกไม้เราอ่านหมด ดูในยูทิวบ์ด้วย” คุณจูนเล่า ทุกวันนี้ ฟาร์มดอกไม้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคุณจูนเติมเต็ม “แปลกมากเลยที่ตั้งแต่ทำฟาร์ม จูนไม่เคยรู้สึกโหยหาชีวิตในเมืองเลย รู้สึกมีความสุขมากเวลาที่ตื่นเช้ามาได้มาตัดดอกไม้ แล้วได้เห็นลูก ๆ วิ่งเล่น และได้ทำงานด้วยกันเป็นครอบครัว รู้สึกว่ามันเป็นไลฟ์สไตล์ที่เราต้องการ การที่เราได้ทำงานร่วมกัน ได้อยู่บ้านและได้ทำในสิ่งที่เรารัก จูนเลยรู้สึกว่าชีวิตของเราตอนนี้สมบูรณ์และเติมเต็ม โดยฟาร์มดอกไม้นี้สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ไม่ใช่เป็นแค่งานอดิเรก แต่มันเป็นธุรกิจของครอบครัวจริง ๆ” คุณจูนกับชีวิตที่เธอบอกว่า 'เติมเต็ม' จากการทำฟาร์มดอกไม้ Source: SBS / Parisuth Sodsai คุณจูนยังฝากข้อคิดถึงคนไทยในต่างแดนคนอื่น ๆ ที่อยากตั้งธุรกิจของตนเองว่า “หา passion ของตัวเองให้เจอก่อนว่าเราอยากทำอะไร เราชอบทำอะไรจริง ๆ แล้วพอหาเจอแล้ว ให้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นให้ลึกซึ้ง อ่านหนังสือเยอะ ๆ และพยายามทำให้ดีที่สุด ทุ่มเทกับสิ่งที่คุณทำให้เต็มร้อย” คุณจูนกล่าวทิ้งท้าย ฟังเรื่องราวการก่อตั้งฟาร์มดอกไม้ Pure Maiden Flower Farm ของคุณจูน ทั้งเรื่องการดูแลดอกไม้หลากประเภท ความท้าทายจากสภาพอากาศ ศัตรูพืช และการทำการตลาดต่าง ๆ ของคุณจูนได้จากสัมภาษณ์ฉบับเต็ม คลิกฟังได้ที่นี่ https://www.sbs.com.au/language/thai/th/podcast-episode/pure-maiden-flower-farm/hehtvido1  คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  sbs.com.au/thai บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่  facebook.com/sbsthai  

nichakornsomta

18

0

แพทย์พบพยาธิยาว 8 ซม.ในสมองหญิงผู้หนึ่งใน NSW

30 Aug 2023
แพทย์พบพยาธิความยาว 8 ซม. ในสมองของหญิงชาวออสเตรเลียผู้หนึ่งในระหว่างการผ่าตัด โดยพยาธิชนิดนี้โดยทั่วไปแล้วมักพบในงูหลาม ประเด็นสำคัญ หญิงวัย 64 ปีจากพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐนิวเซาท์เวลส์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นในปี 2021 ระหว่างการผ่าตัดสมองเพื่อตรวจหาความผิดปกติ แพทย์ได้พบพยาธิตัวกลมขนาด 8 ซม. การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการล้างพืช ผัก ผลไม้ ที่เก็บมาจากริมทางหรือจากป่าให้สะอาด แพทย์ดึงพยาธิขนาด 8 เซนติเมตรที่มีชีวิตและดิ้นไปมาออกจากสมองของหญิงชาวออสเตรเลียผู้หนึ่ง โดยเป็นพยาธิที่มักพบในงูหลามคาร์เพต (carpet python) และคาดว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่พบพยาธิชนิดนี้ในร่างกายมนุษย์ หญิงวัย 64 ปีจากพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐนิวเซาท์เวลส์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นในปี 2021 หลังจากที่เธอมีอาการท้องร่วงและปวดท้องนาน 3 สัปดาห์ จากนั้นก็มีอาการไอแห้ง ๆ อย่างต่อเนื่อง มีไข้ และมีเหงื่อแตกตอนกลางคืน เธอยังมีอาการซึมเศร้าและหลงลืม ก่อนที่ศัลยแพทย์ระบบประสาทที่โรงพยาบาลแคนเบอร์ราจะพบความผิดปกติในสมองกลีบหน้าด้านขวาของเธอระหว่างการสแกนเอ็มอาร์ไอ ในปี 2022 เมื่อแพทย์ทำการผ่าตัดสมองเพื่อตรวจสอบ พวกเขาพบพยาธิตัวกลม โอฟิดาสคาริส โรเบิร์ตซิ (Ophidascaris robertsi) ขนาด 8 ซม. ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่พบพยาธิชนิดนี้ในมนุษย์ พยาธิตัวกลมพบได้ทั่วไปในงูหลามคาร์เพต (carpet python) และมักอาศัยอยู่ในหลอดอาหารและกระเพาะอาหารของสัตว์ ก่อนที่ไข่ของพยาธิจะปะปนออกมาพร้อมกับมูลของงู กลุ่มนักวิจัยซึ่งระบุชนิดของพยาธิดังกล่าว เชื่อว่าพยาธิเข้าสู่ร่างกายของหญิงผู้นี้ จากการที่เธอไปเก็บผักพื้นเมืองที่เรียกว่าผักวาร์ริกัล กรีนส์ (Warrigal greens) ที่เธอพบริมทะเลสาบใกล้บ้านของเธอ และนำมารับประทาน นักวิจัยคาดว่าผักป่าดังกล่าวน่าจะเต็มไปด้วยไข่พยาธิที่มาจากมูลของงูหลาม นักวิจัยยังสงสัยว่าอวัยวะอื่น ๆ ของหญิงผู้นี้ รวมทั้งปอดและตับ มีตัวอ่อนของพยาธิอยู่ภายใน “นี่เป็นกรณีการพบพยาธิโอฟิดาสคาริส (Ophidascaris) ในมนุษย์ที่มีหลักฐานชี้ชัดเป็นครั้งแรกในโลก” ดร.สัญจาญา เสนานาญาเค (Sanjaya Senanayake) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและผู้ร่วมวิจัย กล่าว “เท่าที่ทราบ นี่เป็นกรณีแรกที่เกี่ยวข้องกับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์อื่น” “โดยปกติแล้วตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้จะพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง ซึ่งงูหลามกินเข้าไป ซึ่งทำให้วงจรชีวิตของพยาธิจบสิ้นสมบูรณ์ภายในร่างกายของงู” ดร.เสนานาญาเค กล่าวว่า การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการล้างพืช ผัก ผลไม้ ที่เก็บมาจากริมทางหรือจากป่าให้สะอาด รวมถึงชี้ให้เห็นอันตรายของโรคและการติดเชื้อที่ส่งผ่านจากสัตว์สู่คน ผู้หญิงผู้นี้ได้ออกจากโรงพยาบาลมาหลายเดือนแล้ว และอาศัยอยู่ในชุมชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและสมองคอยติดตามอาการของเธออย่างต่อเนื่อง “การติดเชื้อโอฟิดาสคาริสนี้ไม่แพร่เชื้อระหว่างคนสู่คน ดังนั้นจึงจะไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่อย่างโรคซาร์ส โควิด-19 หรืออีโบลา” ดร.เสนานาญาเค กล่าว “อย่างไรก็ตาม งูและพยาธิพบได้ในส่วนอื่น ๆ ของโลก ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าจะมีการพบกรณีอื่น ๆ ในประเทศอื่นๆ ในอนาคต” ดร.เสนานาญาเค กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการติดเชื้ออุบัติใหม่ทั่วโลกราว 30 ชนิด และในจำนวนนั้นราวร้อยละ 75 เป็นเชื้อจากสัตว์สู่คน ซึ่งหมายความว่าเชื้อเหล่านั้นสามารถแพร่กระจายจากสัตว์ไปสู่คนได้ คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  sbs.com.au/thai บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่  facebook.com/sbsthai

nichakornsomta

6

0

จู๊ดดดดดมอนิ่งทุกคน

28 Aug 2023
นกที่ตื่นเช้าคือ… นกที่หิวค่าาาา!! เช้าของบริสเบนก็คือเริ่มที่ 7 โมง ก็จะมีคาเฟ่ และร้านอาหารเปิดบ้างแล้ว แต่เรามันสาวเอเชีย มันสาวผมดำ มันต้องกินโจ๊ก มันต้องกินปาท่องโก๋ มันต้องกินน้ำเต้าหู้ ตัวเราเลยต้องพุ่งตรงไปที่ Market Square Sunny bank มันจะมีร้านจีนเปิดอยู่ 2 ร้าน อร่อยถูกปากทั้ง 2 ร้าน ร้านแรกเป็นอาหารเช้าแนว โจ๊ก ปลาท่องโก๋ ซุป ข้าวเหนียวห่อไส้ต่างๆ ผัดวุ้นเส้น ไส้กรอกจีน และก็มีเครื่องดื่มเป็นน้ำบ๊วย น้ำข้าว น้ำถั่วสไตล์จีน ร้านที่สองจะเป็นซาลาเปา ติ่มซำ น้ำเต้าหู้ อร่อยทั้งสองร้านเลยยยย เวลาไป ก็คือกินทั้ง 2 ร้าน จบนะคะ เป็นการกระจายรายได้ Market Square Sunny bank QLD Brisbane AUS #อายโมทำเองทุกจานนะคะ #eyemogogirl #ไลฟ์สไตล์ฉบับอายโม #eyemoinaustralia #อายโมขอรีวิว #เด็กไทยในออส #คนไทยในบริสเบน #foodinbrisbane #brisbane #travelinbrisbane #รีวิวบริสเบน #เที่ยวบริสเบน #ร้านอาหารบริสเบน https://www.facebook.com/profile.php?id=100083072242047

#eyemogogirl

28

0

ถึง พ่อกับแม่ที่อยากจะพาลูกๆ ย้ายมาใช้ชีวิตที่ต่างประเทศนะครับ

24 Aug 2023
โดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย แดนจิงโจ้ และโคอะล่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านการศึกษา หรือ แสวงหาคุณภาพชีวิต และอนาคตที่ดีกว่าให้ลูกๆ ผมขอแชร์ประสบการณ์ของผมที่ย้ายทั้งครอบครัวมาที่ออสเตรเลียเกือบ 8 เดือนแล้วครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ (ไม่ใช่เรื่องวีซ่านะครับ) 1) การเลือกโรงเรียนให้ลูก โรงเรียนรัฐบาลที่ออสเขาเรียกว่า public school ครับ และการที่เด็กจะได้เข้าเรียนในโรงเรียนนั้นๆ มันจะมีคำว่า "school catchment area" แปลเป็นภาษาไทยคือ เขตพื้นที่การศึกษา เด็กต้องมีที่อยู่ชัดเจนในโซนของโรงเรียนนั้นๆ จึงจะสามารถเข้าไปเรียนที่นั่นได้ ทำให้ suburb ที่มีโรงเรียนที่ดี จะทำให้ราคาบ้านแพงมากๆ และค่าเช่าสูง แต่มันก็แลกมาด้วยสภาพสังคมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะมันมี demographic ที่ดี ดังนั้นเราควรศึกษาทำเลมาก่อน เพราะมันต้องมองไปไกลมากๆ เพราะลูกต้องเรียนที่นี่หลายปี ผมชอบ suburb ที่มีคนเอเชียเยอะๆ เพราะจะทำให้ปรับตัวง่าย และลูกไม่รู้สึกแปลกแยก และต้องสะดวกในการเดินทาง และหาของกิน shopping ง่าย 2) หางานที่ไม่ไกลจากบ้าน ถ้าคุณรวยมาก โดยไม่ต้องทำงานเลย สามารถข้ามข้อนี้ไปได้ครับ ถ้ามีทางเลือก ผมแนะนำให้หางานที่เวลาดี และใกล้บ้านเพราะคุณย้ายมาต่างประเทศ คุณไม่อยากลดคุณภาพของเวลาของครอบครัวคุณ โรงเรียนที่ออสเตรเลียเลิกเรียนบ่าย 3 คุณก็ต้องอยากไปรับพวกเขา และใช้เวลาอยู่กับพวกเขาให้มากที่สุด เพราะช่วงแรกๆ เขาต้องปรับตัว และต้องการ support จากคุณ การที่ทำงานไกลบ้าน จะทำให้เสียเวลาเดินทางครับ ถ้ามี 2 งานให้เลือก ผมเลือกงานที่ใกล้บ้าน และเวลาดีครับ 3) ฝึกภาษาให้ลูกมาจากไทยเลย ผมมีเวลาเตรียมลูกผม 1 ปีก่อนย้ายมาออส ตอนนั้นลูกผมอยู่ ป.4 โรงเรียนไทย ผมหาหลักสูตรของ ป. 3 ที่ออสเตรเลียมาสอนลูกเลยครับ เพราะเขาจะได้ไปต่อได้ แม้จะไม่เต็มร้อย แต่ก็ยังมีพื้นฐานไปบ้าง ไม่เหวอในห้องเรียน ผมพูดอังกฤษกับลูกชายตั้งแต่เล็กๆ วันละ 1 ชม. ก่อนนอนทุกวัน จนภาษาเขาแข็งมาก และก่อนมา 6 เดือน ผมพูดภาษาอังกฤษกับลูกเกือบ 100% ทำให้พอเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนใหม่ เขาไม่มีปัญหาเรื่องภาษาครับ ตอนนี้ ลูกชายพูดสำเนียงออสซี่แล้ว เด็กเล็กจะฝึกง่ายมากๆ 4) ทำใจกับความไม่สะดวกสบาย ต่างประเทศก็คือต่างประเทศครับ ความสะดวกสบาย ทั้งด้านของกิน การรักษาพยาบาล การหาช่างซ่อมต่างๆ สู้ไทยไม่ได้ครับ ที่นี่เราต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เพราะจะหวังพึ่งใครก็ยาก เพราะต่างคนต่างก็ต้องดิ้นรนในทางของเขาเอง การที่เรามีทักษะช่างเพิ่มขึ้น ทำอาหารเก่งขึ้น รักษาสุขภาพให้แข็งแรงขึ้น มันจะลดค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลาได้มากครับ แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว ความสะดวกสบายที่เราได้รับคือ ถนนหนทางที่ดี อากาศที่สะอาด ทางเท้าที่สวยงาม และการติดต่อหน่วยงานรัฐบาลที่ตรงไปตรงมาครับ 5) plan your work and work your plan แผนด้านการเงิน แผนการศึกษาลูก แผนการลงทุนระยะยาว แผนB ต้องมีถ้าเกิดปัญหาที่มาจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ก่อนมาผมกับภรรยาเรานั่งทำแผนปฏิบัติการกันเลยครับ เป็น roadmap ทั้งระยะสั้น กลาง ไกล เพราะเรารู้ว่าถ้าเรามาเพื่อลูกอย่างเดียวเวลาเกิดปัญหาขึ้น แล้วไม่มีแผนรองรับ เราจะเคว้งและคิดโทษตัวเองที่ทิ้งประเทศไทยมา การมีแผนและเดินตามเกมส์เหมือนเรือที่มีหางเสือ และเดินตรงทิศทาง ทำให้ไม่เขวครับ เวลาเราหลุดนอกเส้นทาง จะกลับมาได้เร็ว และจะช่วยให้จิตใจเราหนักแน่นด้วยครับ ..... บ่อยครั้งที่ย้ายมาแล้วช่วงแรกๆ จะโคตรท้อ โคตรเหนื่อย แล้วหวนคิดถึงที่ไทย มันปกติครับ ผมก็เป็น บอกตัวเองเสมอว่า "เพื่อลูก" แต่พอมันผ่านจุดนั้นมาแล้ว มันโคตรมีความสุขครับ Sydney Moments ผมเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านที่มีฝันอยากพาลูกๆ มาอยู่ต่างประเทศทั้งครอบครัวนะครับ ทักมาคุยกันได้นะครับ ปล. ผมไม่ให้ข้อมูลด้านวีซ่านะครับ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวีซ่า หากสนใจจริงๆ ผมขอให้ข้อมูลหลังไมค์ครับ อ้น # #คนไทยในต่างแดน #ทีมออสเตรเลีย #มนุษย์พ่อ https://www.facebook.com/siriwitthaya.english

sydneymoments

20

0

นร.ต่างชาติสลับกับคนแปลกหน้าใช้ห้องนอน เพราะไม่มีเงินพอจ่ายค่าเช่า

22 Aug 2023
นักเรียนต่างชาติผู้หนึ่งในเมลเบิร์นบอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่าเธอกับผู้เช่าบ้านอีกคนหนึ่งสลับกันใช้ห้องนอน (hot-bedding) เพื่อจะได้มีเงินพอจ่ายค่าเช่าที่พัก สถานการณ์จะแย่ลงเมื่อการจำกัดชั่วโมงทำงานสำหรับนักเรียนต่างชาติกลับมาใช้บังคับอีกครั้งตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ปริยานคา (ชื่อสมมุติ) เป็นนักเรียนต่างชาติอายุ 19 ปี ผู้ซึ่งในตอนกลางคืนนอนหลับอยู่บนเตียงในบ้านแชร์เฮาส์ หลังหนึ่งในย่านชานเมืองเมลเบิร์น แต่ในเวลากลางวัน เตียงนั้นมีคนอื่นใช้นอน โดยเป็นชายผู้หนึ่งที่ทำงานกะกลางคืนเป็นคนขับรถบรรทุก การสลับกันใช้ห้องนอนแบบนี้ เรียกกันว่า 'hot-bedding' คนแปลกหน้าสองคนซึ่งมาจากอินเดียทั้งคู่ หารครึ่งค่าเช่า 550 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับห้องนอน 1 ห้องในบ้านแชร์เฮาส์หลังนั้น ขณะที่ผู้เช่าคนอื่น ๆ เป็นชายจากอินเดียและทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกเช่นกัน “มันไม่ใช่สิ่งที่ฉันคาดไว้เมื่อมาถึงออสเตรเลียครั้งแรก” ปริยานคา กล่าว “ค่าครองชีพที่นี่นั้นน่าตกใจอย่างมาก และเอเจนต์วีซ่าในอินเดียก็ไม่เคยบอกเราเลย” ค่าครองชีพของออสเตรเลีย ซึ่งประเมินรายเดือนโดยดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนพฤษภาคม 2023 ตามข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย ค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ทั่วประเทศในปีที่ผ่านมา ในเมลเบิร์นนั้น ค่าเช่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์สำหรับอะพาร์ตเมนต์ 2 ห้องนอน ขนาด 85 ตร.ม.ในย่านทั่วไป อยู่ที่ 425 ดอลลาร์ ส่วนผู้คนในซิดนีย์คาดว่าจะจ่ายมากกว่านั้น 36 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 578 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ มันไม่ใช่สิ่งที่ฉันคาดไว้เมื่อมาถึงออสเตรเลียครั้งแรก ปริยานคา นักเรียนต่างชาติ ปริยานคากล่าวว่า นอกจากค่าเช่าแล้ว เธอยังต้องดิ้นรนเพื่อจ่ายค่าอาหารและค่ารถ แถมบางครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ เตียงที่เธอสลับกันใช้กับผู้เช่าบ้านคนอื่นก็ไม่ว่าง “เมื่อเขาว่างจากการขับรถ เนื่องจากที่นี่เป็นบ้านผู้ชายล้วน ฉันก็จะเข้าไปอยู่ในห้องเก็บของ ซึ่งมีพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับวางที่นอนและฉันนอนในนั้น” ตอนแรกนั้น ปริยานคาลงเรียนในหลักสูตรพยาบาลเต็มเวลาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมลเบิร์น และทำงานเป็นพนักงานแคชวลเป็นกะในคลังสินค้าแห่งหนึ่ง แต่เธอบอกว่าเธอถูกเลิกจ้างไปในเดือนมีนาคมหลังจากมีการประกาศการจำกัดชั่วโมงทำงานของนักศึกษาต่างชาติ เธอจึงเลิกเรียนไป ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความเครียดเรื่องที่อยู่อาศัย ตอนนี้เธอกำลังจะเริ่มเรียนปริญญาสาขาใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าและมองหางานที่มั่นคงทำ แต่ภายใต้การจำกัดชั่วโมงทำงานดังกล่าวซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เธอจะสามารถทำงานได้เทียบเท่ากับ 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น (ราว 3 กะ) ภายใต้รัฐบาลชุดที่แล้ว นักเรียนต่างชาติถูกจำกัดชั่วโมงทำงานไว้ที่ 40 ชั่วโมงต่อสองสัปดาห์ในช่วงเปิดภาคเรียน แต่ข้อจำกัดดังกล่าวถูกพักใช้ชั่วคราวในช่วงการระบาดใหญ่โควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รัฐบาลพรรคแรงงานได้นำการจำกัดชั่วโมงทำงานมาใช้บังคับอีกครั้ง แต่อนุญาตให้ทำงานได้มากขึ้นเล็กน้อยเป็น 48 ชั่วโมงต่อสองสัปดาห์ แต่ไม่มีการจำกัดชั่วโมงทำงานสำหรับนักเรียนท้องถิ่น (domestic students) ระหว่างการประกาศเรื่องนี้เมื่อต้นปี รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของออสเตรเลียกล่าวว่า การจำกัดชั่วโมงทำงานนี้ช่วยให้นักเรียนต่างชาติสามารถทำงานและเรียนได้อย่างสมดุล “นักเรียนต่างชาติมาที่ออสเตรเลียเพื่อเรียน” รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน แคลร์ โอนีล กล่าวก่อนหน้านี้ “พวกเขามาที่นี่ด้วยวีซ่านักเรียน และมาเพื่อรับการศึกษาที่มีคุณภาพดีในประเทศของเรา และพวกเขาจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้หากพวกเขาทำงานเต็มเวลา” "นั่นคือเหตุผลที่มีกฎนี้ก่อนหน้านี้" จากจำนวนนักศึกษาต่างชาติ 600,000 คนที่ลงทะเบียนเรียนในปีนี้ เกือบ 90,000 คนมาจากอินเดีย เพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว อีกหลายพันคนคาดว่าจะมาถึงในเดือนกรกฎาคมสำหรับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผลกระทบต่อสุขภาพจิต ปริยานคาได้สลับกันใช้ห้องนอนกับชายคนขับรถบรรทุกผู้นั้นมาหลายเดือนแล้ว และเธอบอกว่ามันส่งผลต่อสุขภาพจิตของเธอ “ฉันเครียดตลอดเวลาและวิตกกังวลมาก การไม่มีแม้แต่ที่สงบ ๆ ให้ได้เอนตัวลงนอนและผ่อนคลายในขณะที่เรียนด้วย เป็นความรู้สึกที่แย่มาก” เธอไม่ได้บอกกับครอบครัวของเธอที่อินเดียว่าเธอลำบากมากแค่ไหน เนื่องจากพวกเขาได้เสียสละมากมายเพื่อให้เธอได้รับการศึกษาในออสเตรเลีย “พ่อแม่ของฉันจำนองบ้านและกู้เงินก้อนโต แล้วยังตัดลดค่าสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เพื่อส่งฉันมาที่นี่” ปริยานคากล่าว ในช่วงปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นได้สูงเกินกว่างบประมาณที่ครอบครัวตั้งไว้เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของเธอ “ถ้าฉันบอกแม่ว่ามันยากลำบากแค่ไหน แม่ก็จะร้องไห้ไปหลายวัน ฉันยังไม่ได้บอกเธอด้วยซ้ำว่าฉันกับคนอื่นสลับกันใช้ห้องนอน เพราะเธอไม่เข้มแข็งพอที่จะทนรับความทุกข์เช่นนี้ได้” คุณมาโนรานี กาย ผู้เป็นกระบอกเสียงให้นักเรียน กำลังช่วยหาทางแก้ไขสถานการณ์ให้กับปริยานคา คุณกาย เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานกลุ่ม Victorian Working Group for International Student Employability หรือที่รู้จักกันในชื่อ VicWise เธอบอกว่า ไม่ใช่แค่ปริยานคาเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ “ผู้มาใหม่จำนวนมากตกใจกับค่าครองชีพในออสเตรเลีย” คุณกาย กล่าว “เราให้สัญญาว่านักเรียนทั่วโลก เพื่อจะนำพวกเขามาที่นี่ แต่ไม่มีใครพูดถึงอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าบ้านที่สูง ค่าครองชีพที่สูงลิ่ว และตอนนี้ก็มีข้อจำกัดในการทำงาน” การสำรวจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปี 2021 จากนักศึกษาต่างชาติ 7,000 คนในซิดนีย์และเมลเบิร์นพบว่า มากกว่าร้อยละ 3 เคยใช้วิธีสลับกันใช้ห้องนอนกับคนอื่น (hot-bedding) และร้อยละ 40 เคยต้องอดมื้อกินมื้อ การสำรวจนี้จัดทำขึ้นก่อนที่นักศึกษาต่างชาติในออสเตรเลียเกือบ 2 ใน 3 จะตกงานในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผู้มาใหม่จำนวนมากตกใจกับค่าครองชีพในออสเตรเลีย มาโนรานี กาย ผู้เป็นกระบอกเสียงให้นักศึกษา คุณกายคาดการณ์ว่า การกลับมาจำกัดชั่วโมงทำงานอีกครั้งจะทำให้สถานการณ์เรื่องที่พักเลวร้ายลงไปอีกสำหรับนักศึกษาต่างชาติจำนวนมาก “เงื่อนไขสำหรับนักเรียนต่างชาตินั้นโหดอยู่แล้วและจะโหดขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ที่ไม่มีความยืดหยุ่นจะต้องลำบาก” คุณกายกล่าว “เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่รอดจากการทำงานแค่ 3 กะต่อสัปดาห์ และนั่นหมายถึงการอยู่ในแชร์เฮาส์อย่างแออัด และปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น” คุณฟิล ฮันนีวูด ซีอีโอของสมาคมการศึกษานานาชาติแห่งออสเตรเลีย สนับสนุนการกลับมาจำกัดชั่วโมงทำงานอีกครั้ง แต่กล่าวว่าจำเป็นต้องมีที่พักสำหรับนักเรียนในราคาที่ย่อมเยามากขึ้น "เรากำลังดำเนินการผ่านเวทีเสวนาด้านนโยบายต่างๆ เพื่อเปลี่ยนอาคารสำนักงานและโรงแรมขนาดเล็กบางแห่งให้กลายเป็นอะพาร์ตเมนต์สำหรับนักศึกษา รวมถึงนำโครงการที่พร้อมก่อสร้างไปสู่วิทยาเขตหรือพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยโดยเร็วที่สุด" เขายังฝากคำเตือนถึงครอบครัวของนักเรียนที่หวังจะมาเรียนที่นี่ว่า "ก่อนที่คุณจะได้รับวีซ่านักเรียนเพื่อมาออสเตรเลียหรือประเทศอื่น ๆ คุณต้องพิสูจน์ว่าคุณมีเงินในธนาคารเพียงพอสำหรับ ค่าเช่าที่พัก ค่าอาหารและค่าครองชีพอื่นๆ" เสียงเรียกร้องให้เพิ่มชั่วโมงที่นร.ต่างชาติจะทำงานได้ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการจำกัดชั่วโมงทำงานของนักเรียนต่างชาติคือ ภาคอุตสาหกรรมการบริการ (hospitality) ซึ่งจ้างงานนักเรียนหลายพันคน คุณสุเรช มานิกแคม ซีอีโอของสมาคมอุตสาหกรรมร้านอาหารและการจัดเลี้ยงแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่าภาคส่วนนี้กำลังดิ้นรนเพื่อรับมือกับต้นทุนด้านพลังงาน การผลิต และค่าเช่าที่สูงขึ้น “วันที่ 1 กรกฎาคมเร็วเกินไปที่จะกลับมาจำกัดชั่วโมงทำงานของนักเรียนต่างชาติ” คุณมานิกแคมกล่าว “และเหตุผลหลักก็คือเรายังขาดแคลนแรงงานอยู่ทั่วประเทศ” “การหลั่งไหลเข้ามาของนักเรียนที่มายังออสเตรเลียจะไม่สามารถเติมเต็มปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้ได้ เนื่องจากจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนจะสามารถทำงานได้ถูกจำกัด” “และเรากังวลมากว่าสิ่งนี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ซ่อนเร้นในแง่ของชั่วโมงการทำงาน” เรากังวลมากว่าสิ่งนี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ซ่อนเร้น สุเรช มานิกแคม สมาคมอุตสาหกรรมร้านอาหารและการจัดเลี้ยง เพื่อลดแรงกดดันต่อเจ้าของร้านอาหาร คุณสุเรช มานิกแคม เรียกร้องให้รัฐบาลจัดชั่วโมงการทำงานของนักเรียนต่างชาติที่เป็นลูกจ้างภาคบริการให้สอดคล้องกับนักเรียนที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถทำงานได้โดยไม่จำกัดชั่วโมงจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ “เรายังขอให้ใน 6 เดือนข้างหน้า รัฐบาลกลางต้องตรวจสอบทบทวนการจำกัดชั่วโมงทำงานภาคบริการ” คุณมานิกแคมกล่าว ในแถลงการณ์ถึง เอสบีเอส ฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนที่แล้ว โฆษกของกระทรวงกิจการภายในกล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงคุณูปการสำคัญที่นักศึกษาต่างชาติทำเพื่อสังคมออสเตรเลีย โฆษกให้ความเห็นที่สอดคล้องกับรัฐมนตรีโอนีล โดยกล่าวว่า “รัฐบาลเห็นว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการทำงานและการเรียน” “ส่วนหนึ่งของข้อกำหนดสำหรับวีซ่านักเรียนคือ นักเรียนต้องแจ้งว่าพวกเขามีเงินทุนเพียงพอที่สำหรับการพำนักในออสเตรเลีย รวมถึงค่าครองชีพ ค่าเล่าเรียน และค่าเดินทาง” “การเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงานขึ้นเล็กน้อยนี้จะช่วยให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การทำงานอันมีค่าและช่วยเหลือด้านความต้องการแรงงานในออสเตรเลียในขณะที่เรียนอยู่” ปริยานคาหวังว่า สถานการณ์การสลับกันใช้ห้องนอนที่เธอประสบอยู่ในปัจจุบันจะสิ้นสุดลง “มันรู้สึกแย่มากที่มาถึงจุด ๆ หนึ่งในชีวิต ฉันต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้” “ฉันไม่อยากให้ใครต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนฉัน ดังนั้นฉันจะไม่แนะนำให้ใครมาออสเตรเลีย เว้นแต่ว่าพวกเขาจะมีเครือข่ายความช่วยเหลือที่แข็งแกร่ง” “ผู้คนพร้อมที่จะฉวยโอกาสเอาเปรียบนักเรียนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาไม่รู้กฎหมายและไม่รู้ระเบียบข้อบังคับในท้องถิ่น” “บางครั้งฉันก็รู้สึกเหมือนถามตัวเองว่า จริง ๆ แล้วฉันกำลังทำอะไรอยู่กันแน่? นี่คือวิธีที่เราควรดำรงชีวิตอยู่เหรอ?” Study Australia ให้คำแนะนำและบริการช่วยเหลือสำหรับนักศึกษาต่างชาติ สำหรับข้อมูลด้านสิทธิในที่ทำงานและข้อมูลสำหรับลูกจ้างผู้ย้ายถิ่น เป็นภาษาต่าง ๆ คุณสามารถดูได้ที่ เว็บไซต์ Fair Work Ombudsman ผู้อ่านที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสามารถติดต่อ Beyond Blue ที่หมายเลข 1300 22 4636 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ beyondblue.org.au Embrace Multicultural Mental Health ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่ผู้คนจากภูมิหลังหลากภาษาและวัฒนธรรม คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  sbs.com.au/thai บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่  facebook.com/sbsthai    

SBS

14

0